O que gostarias de pesquisar?

Our News

FLR349 Fund: ศาสตร์พระราชา ได้ป่าฟื้นคืน ได้อาชีพยั่งยืน ได้อาหารปลอดภัย

ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญทางเศรษฐกิจโลกในภาคการเกษตรและอาหาร โดยเป็นทั้งผู้ผลิตและตลาดอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ในภูมิภาค ภาคการเกษตรจึงเป็นภาคส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับประเทศ  อย่างไรก็ตามรูปแบบการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทุนนิยมซึ่งขาดการบรูณการหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นผลให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายตามมา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Maize) เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญของประเทศที่เกิดข้อถกเถียงในวงกว้างด้านความยั่งยืน แม้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศษฐกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทย เป็นพืชไร่ที่นิยมมากในกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ไม่สิทธิที่ดินทำกินและไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตและตลาด เนื่องด้วยปลูกง่าย ช่วงปลูกสั้น และมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน อย่างไรก็ตามงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องล้วนชี้ถึงปัญหาความไม่ยั่งยืนหลายมิติจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์การขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่องเข้าไปพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือพื้นที่ลาดชันปัจจุบันมีมากกว่า 5 ล้านไร่ ซึ่งทำให้สูญเสียทรัพยากรป่าไม้และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ปัญหาหมอกควันจากการแผ้วถางและเผาตอซัง การใช้สารเคมีเกษตรอย่างเข้มข้นตลอดการปลูกถึงเก็บเกี่ยว การชะล้างพังทลายของหน้าดิน ปรากฎการณ์เหล่านี้ยังมีนัยสำคัญต่อภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์การเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรดังที่ตั้งไว้ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่ในวงจรหนี้สินและมีสภาพการเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ระบบเศษฐกิจฐานรากและระบบอาหารท้องถิ่นก้าวสู่ภาวะล่มสลายคือ ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งแสดงถึงทิศทางการพัฒนาที่ออกห่างจากความยั่งยืน   



“ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงและราคาขายที่ถูกกดต่ำกว่าท้องตลาด เกษตรกรบนพื้นที่ลาดชันมีรายได้โดยเฉลี่ยจากการปลูกข้าวโพดเพียงประประมาณ 1,500 บาทต่อไร่ต่อปีเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนแฝงหรือภาระด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ถูกคิดคำนวณลงใปในต้นทุนการผลิต กล่าวคืออีกนัยหนึ่งคือ เราเสียพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นโอกาสในการสร้างระบบนิเวศบริการในราคาเพียง 1,500 บาทต่อไร่ต่อปี รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการใช้สารเคมี ประโยชน์ดังกล่าวตกอยู่ในมือของบรรษัทครอบงำระบบอาหาร แต่ไม่ใช่เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตและประชาชนผู้บริโภคที่เป็นผู้จ่ายที่จะสมควรเป็นผู้ได้รับประโยชน์”   

กองทุนFLR349” เป็นกองทุนที่น้อมนำศาสตร์พระราชา การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการสร้างห่วงโซ่คุณค่าซึ่งเป็นโมเดลให้กับเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ กองทุน FLR349 จะเป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการวิธีการทำเกษตรจากการทำพืชเชิงเดี่ยวรุกป่าใช้เคมีสูง สู่การทำเกษตรกรรมแบบบูรณาการในรูปแบบการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 นี้ จะนำมาซึ่งการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการแผ้วถางทำลายหน้าดิน ผ่านการปลูกและดูแลไม้ป่าถาวร ปลูกไม้ผล และพืชผัก สมุนไพรนานาชนิดแบบผสมผสาน เกื้อกูลฟื้นฟูสร้างระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน น้ำ และเอื้อต่อการผลิตอาหารที่หลากหลายและปลอดภัยต่อการผลิตและบริโภค เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการพึ่งพาตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการยังชีพและสุขภาวะที่ฟื้นคืนกลับมา ซึ่งจะทำให้สามารถก้าวพ้นจากวงจรหนี้สินและการถูกเอาเปรียบเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมในห่วงโซ่ผลิตอาหาร ถือได้ว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs)  

กองทุน FLR349 เป็นโมเดลสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อาศัยเงินสนับสนุนจากผู้บริจาคจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการสนับสนุนเงินสำหรับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถสนับสนุนผ่านการซื้อสินค้าของโครงการ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน (sustainable consumption and production patterns) มาใช้แก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ต้นน้ำ กองทุน FLR349 มีองค์กรจากภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่มและจัดตั้ง ประกอบด้วยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF) บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) และมีองค์กรอื่น ๆ รวมเป็นภาคีสนับสนุน เช่น Agricultural and Food Marketing Association for Asia and the Pacific (AFMA) ที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ (inter-government non-profit organization) พร้อมกับภาคีที่ให้การสนับสนุนข้อมูลวิชาการด้านต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFCT) และการสนับสนุนการให้ข้อมูลเชิงวิชาการผ่านโครงการวิจัย โดยเป็นผู้พัฒนาตัวชี้วัดและประเมินผลลัพธ์จากการดำเนินกองทุนในพื้นที่ อาทิ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการ “ชุดโครงการงานวิจัยเชิงพื้นที่: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืนของการทำเกษตรในพื้นที่ลาดชัน กรณีศึกษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่” และ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ภายใต้โครงการ “การประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ของโครงการกองทุน FLR349” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรวมถึงยังมีการสร้างระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับ (traceability system) ที่จะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตหรือเกษตรกรภายใต้โครงการและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน ผู้บริโภครวมถึงผู้บริจาคจะสามารถรู้แหล่งที่มาของอาหาร สามารถบริจาคเงินผ่านระบบเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนและติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูป่าภายในพื้นที่ดำเนินการกองทุนได้อีกด้วย
 
กล่าวคือการดำเนินงานของกองทุน FLR349 จะมีระบบตรวจสอบ ตัวชี้วัดความสำเร็จ ทำให้ทราบถึงความคุ้มค่าทั้ง ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของการให้เงินสนับสนุนกองทุนฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่น ๆ ที่สนใจที่จะลงทุนสนับสนุนเงินเข้ากองทุน ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการติดตามและตรวจสอบความคืบหน้าและผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการภายใต้กองทุนอีกด้วย
 
ในเบื้องต้น กองทุน FLR349 จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่องที่ บ้านสองธาร (แม่ขี้มูก) หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 26 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 130 ไร่ กองทุนจะสนับสนุนเกษตรกรครัวเรือนละ 5 ไร่ จำนวนเงินสนับสนุน 2,000 บาท ต่อไร่ต่อปี เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี ในการปรับเปลี่ยนและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ต่อไปหลังโครงการ กองทุน FLR349 ตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการขยายพื้นที่ในระดับจังหวัดและประเทศ หรือสามารถนำไปเป็นโมเดลทางเลือกในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมทรัพยากรหรือการพัฒนาการทำเกษตรกรรมได้ในในทุกพื้นที่ 
 
ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) จะถูกก่อร่างสร้างขึ้นจากโมเดล FLR349 นี้ ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรจะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 2,000 บาท เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมเป็นพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับพื้นที่แบบโคก หนอง นา โมเดล และการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีไม้ป่ายืนต้นควบคู่กับการปลูกพืชอาหารที่หลากหลายและเป็นเกษตรกรรมวิถีธรรมชาติปราศจากเคมี โดยผลผลิตพืชผักผลไม้อินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นการสร้างอาหารที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรในการยังชีพ[1] และผลผลิตส่วนที่เหลือกินจะนำมาขายเป็นรายได้ โดยมีวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นผู้รับซื้อ ซึ่งมีการวางแผนการตลาดและแผนผลิตล่วงหน้า และกำหนดราคาที่เป็นธรรม มีการจัดหาตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ (local food chain market) ซึ่งรวมถึงโรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหารในพื้นที่ และตลาดค้าปลีกในระดับประเทศ ซึ่งโมเดลนี้จะก่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษกิจฐานราก เงินหมุนเวียนในชุมชน และการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และอาจต่อยอดถึงการพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย


 
โมเดลกองทุน FLR349 คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้มากกว่าเดิมอย่างน้อย 4 เท่าให้กับเกษตรกรเมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และยังมีเงินรายให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะสามารถแบ่งกลับเข้าสู่กองทุน FLR349 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและขยายความสำเร็จไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป       

กองทุน FLR349 ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (key stakeholders)  4 กลุ่มด้วยกัน คือ
  1. FLR349:  กองทุนจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อน ระดมทุน ดำเนินงานภายใต้กองทุนให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะมีผู้ริเริ่มกองทุนเป็นคณะกรรมการ อาทิ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF) บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) และรวมถึงองค์กรภาคีสนับสนุน เช่น Agricultural and Food Marketing Association for Asia and the Pacific (AFMA) ที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ (inter-government non-profit organization) และคณะกรรมการจะขยายเป็นตัวแทนจากผู้สนับสนุนหลักจากภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจ

  1. เกษตรกร: เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากกองทุนทั้งด้านองค์ความรู้และเงินสนับสนุนตามกรอบการดำเนินการกองทุน โดยมีข้อกำหนดมี่ต้องปฏิบัติการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4  ดูแลการปลูกและดูแลพืชอาหารและปลูกป่าฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยเกษตรกรจะสามารถขายผลผลิตการเกษตรให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะเป็นรายได้หลักให้กับเกษตรกร 

  1. วิสาหกิจเพื่อสังคม: เป็นบริษัทหรือเป็นมูลนิธิที่อาจมีตัวแทนเกษตรกรหรือชุมชนเข้าร่วม ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินธุรกิจตัวกลางซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพื้นที่ในโครงการในราคาที่เป็นธรรม วางแผนการผลิตการตลาดร่วมกับกลุ่มเกษตรกร โดยผลกำไรที่ได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย จะถูกแบ่งกลับเข้าสู่กองทุน FLR349 เพื่อเป็นการต่อทุนในการขับเคลื่อนขยายพื้นที่โครงการและดำเนินการกองทุน 

  1. ผู้สนับสนุนหรือผู้บริจาค: กองทุน FLR349 เป็นกองทุนที่ทำประโยชน์สาธารณะ และจึงต้องจัดหาเงินทุนสนับสนุนจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนหรือผู้บริโภคในลักษณะเงินบริจาคเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนยังสามารถมาจากการซื้อผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโครงการ โดยกองทุนจะมีระบบติดตามตรวจสอบ ที่จะรับประกันได้ว่าเงินสนับสนุนสามารถแปลงเป็นผลตอบแทนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกักเก็บคาร์บอนจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่จะไม่เป็นการลงทุนเพื่อลักษณะหาผลกำไร   

“กองทุน FLR349 นี้ จึงเป็นโมเดลเรือธงที่สร้างขึ้นสำหรับการนำมาใช้แก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าต้นน้ำและความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและสร้างผลประโยชน์ร่วมกันตามแนวทางการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายของกองทุน FLR349 นี้คือจะเป็นโมเดลที่สามารถขยายไปใช้ได้ในทุกพื้นที่ ในระดับประเทศและสากล โดยภายใน 10 ปีจะต้องบรรลุเป้าหมายสร้างป่าสร้างอาหารให้ได้ 50,000 ไร่ เปลี่ยนพื้นที่ต้นน้ำที่เสี่ยมโทรมในประเทศเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารสืบให้ลูกหลานอย่างยั่งยืน”  


[1] ตามโครงการ 459 ของธกส. ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
© WWF-Thailand
FLR349 logo

PARTILHA!

Ajuda-nos a espalhar a mensagem